การสอบสวนหาแหล่งต้นตอที่แพร่ระบาดโรคปากเท้าเปื่อยในอังกฤษ งวดเข้ามาทุกขณะแล้ว

ล่าสุดเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นฝีมือมนุษย์ที่จงใจให้มีการระบาด การตรวจสอบการแพร่ระบาดครั้งใหม่ของโรคปาก เท้าเปื่อยในอังกฤษ จนถึงวันพุธ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบด้านสุขภาพ ได้พุ่งเป้าตรวจสอบว่า เจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในศูนย์วิจัย Pirbright ซึ่งเป็นห้องแล็บ อาจจะมีความเป็นไปได้ว่า เป็นผู้แพร่เชื้อดังกล่าวโดยเจตนา


ทั้งนี้เจ้าหน้าที่กล่าวว่า มีความเป็นไปได้อย่างมากที่เชื้อโรคปากเท้าเปื่อยจะออกมาจากศูนย์วิจัย ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน ซึ่งศูนย์ดังกล่าวเป็นที่ตั้งของสถาบันสาธารณสุขสัตว์ของรัฐบาล หรือไอเอเอช และบริษัทปรุงยาของเอกชน ชื่อ Merial Animal Health ที่ผลิตวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อย และอยู่ห่างจากฟาร์มปศุสัตว์ที่พบการระบาดเพียง 6.5 กิโลเมตรเท่านั้น

รายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีความเป็นไปได้จริง ๆ ว่า การเคลื่อนย้ายของมนุษย์อาจทำให้เชื้อโรคแพร่ระบาดในฟาร์มปศุสัตว์ 2 แห่ง ซึ่งบริษัท Merial อยู่ในข่ายต้องสงสัยมากที่สุด ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์เดอะ ซัน และเดลี เมล์ รายงานว่า คนงานในห้องแล็บที่ Merial ซึ่งเป็นเจ้าของ Merck and Co.Inc บริษัทผู้ผลิตยาของสหรัฐ และ Sanofi-Aventis SA ของฝรั่งเศส อาจเป็นผู้แพร่ระบาดของโรคผ่านสวนผักของเขาที่อยู่ใกล้ฟาร์มที่พบการแพร่ระบาด

แต่ในแถลงการณ์เมื่อวันพุธ ทาง Merial ระบุว่า จนถึงวันนี้ ทางบริษัทยังไม่สามารถหาหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่า เชื้อไวรัสมรณะดังกล่าวอาจถูกคนนำออกไปจากศูนย์วิจัยของบริษัท.

ที่มา เดลินิวส์ 9 สิงหาคม 2550 9.40น.

(มันชักเหมือนหนังเรื่อง Residental Evil จังเลยแฮะ Merck and Co.Inc คล้าย Umbrella company ในหนังเลย ถ้ามันเป็นเชื้อโรคซาร์ส มันไม่ระบาดไปทั้งโลกแล้วหรือเนี่ย ความเห็นเจ้าของบล็อก)

date วันเสาร์, สิงหาคม ๑๑, ๒๕๕๐


ลอนดอน - ผู้ดีเจอโรคปากเท้าเปื่อยระบาดอีกจุด ในฟาร์มทางใต้ ใกล้กับจุดที่พบครั้งแรก ขณะรมว.สิ่งแวดล้อม คาดการระบาดอาจมีสาเหตุจากน้ำท่วม


กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นายไฮลารี เบนน์ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอังกฤษกล่าวว่าผลการทดสอบยืนยันว่าพบการระบาดของโรคปากเท้าเปื่อยจุดที่ 2 ในฟาร์มแห่งหนึ่ง ทางใต้ของกรุงลอนดอน ซึ่งอยู่ภายในเขตป้องกันและอยู่ใกล้กับฟาร์มที่พบการระบาดครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญได้สั่งกำจัดสัตว์ 50-100 ตัวที่ฟาร์มแล้ว

นายเบนน์กล่าวว่าการระบาดของโรคปากเท้าเปื่อยอาจมีสาเหตุมาจากน้ำท่วมเมื่อเร็วๆ นี้ ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบความเป็นไปได้ที่ไวรัสซึ่งติดต่อกันง่ายนี้ อาจระบาดมาจากห้องทดลองทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน และเข้าไปยังฟาร์มที่อยู่ห่างออกไป 5 กิโลเมตร

ด้านคณะกรรมาธิการยุโรปได้ห้ามอังกฤษส่งออกเนื้อสัตว์ นม และสัตว์ ในช่วงที่กำลังมีการตรวจสอบหาต้นตอการระบาดของไวรัส ขณะที่เซอร์ดอน เคอร์รี หัวหน้าแผนกอาหารและฟาร์มของอังกฤษ กล่าวว่าการที่รัฐบาลห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ อาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลนเนื้อสัตว์ภายในปลายสัปดาห์นี้

ผู้แปรรูปเนื้อได้เข้าพบเจ้าหน้าที่กระทรวงสิ่งแวดล้อม อาหาร และกิจการชนบท เพื่อหารือให้มีการผ่อนคลายข้อจำกัดอันจะเปิดทางให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์เพื่อนำไปฆ่า ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาการขาดแคลนได้ แต่ การผ่อนคลายจะขึ้นอยู่กับว่ามีการระบาดของโรคในส่วนอื่นของประเทศอีกหรือไม่

กรุงเทพธุรกิจ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2550 16:27:00



date วันอังคาร, สิงหาคม ๐๗, ๒๕๕๐


(4สค.) ทางการอังกฤษมีคำสั่งเมื่อวันศุกร์ ห้ามการเคลื่อนย้ายสัตว์ทั่วประเทศ หลังคณะสัตวแพทย์ได้ตรวจยืนยันว่า พบการระบาดของโรคปากเท้าเปื่อยในฟาร์มปศุสัตว์แห่งหนึ่ง ใกล้เมืองกิลด์ฟอร์ด ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอนของอังกฤษ และได้มีคำสั่งกำจัดสัตว์ทั้งหมดในฟาร์ม รวมถึงการประกาศเขตรัศมี 3 กิโลเมตรจากฟาร์มเป็นเขตป้องกัน และเขตรัศมี 10 กิโลเมตรรอบฟาร์มเป็นเขตเฝ้าระวัง

การระบาดที่เกิดขึ้น ทำให้มีการเรียกประชุมของคณะกรรมการสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือโคบร้าซึ่งนายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ของอังกฤษ ที่อยู่ระหว่างการพักผ่อนวันหยุดในเมืองดอร์เซต ได้ร่วมประชุมและสั่งการทางโทรศัพท์ด้วย

โฆษกประจำตัวนายบราวน์เปิดเผยว่า นายบราวน์ได้ยกเลิกแผนการหยุดพักผ่อน และจะกลับมายังกรุงลอนดอน และจะเป็นประธานการประชุมโคบร้าอีกครั้งในวันนี้ เพื่อจัดการกับวิกฤตที่เกิดขึ้น พร้อมระบุว่า เป้าหมายสำคัญคือ การป้องกันไม่ให้การระบาดลุกลามไป เพื่อปกป้องปศุสัตว์ของเกษตรกร

โรคปากเท้าเปื่อยระบาดในอังกฤษ เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในปศุสัตว์ เช่นวัว แกะ หมู แพะและกวาง แต่จะไม่ติดเชื้อมายังมนุษย์ โดยเมื่อปี 2544 ได้เกิดการการระบาดของโรคปากเท้าเปื่อยครั้งใหญ่ในอังกฤษ ทำให้ปศุสัตว์ราว 6 ล้าน - 10 ล้านตัวต้องถูกฆ่าทำลาย /การท่องเที่ยวย่ำแย่ และต้องเลื่อนการเลือกตั้งทั่วไปออกไป ส่งผลให้เศรษฐกิจอังกฤษเสียหายมูลค่าราว 8 พันล้านปอนด์ หรือราว 5 แสน 6 หมื่นล้านบาท

โดย คม ชัด ลึก วัน เสาร์ ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2550 10:50 น.




date

เริ่มดำเนินการโคกระบือ แพะ แกะ

นายภิรมย์ ศรีจันทร์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า การจัดทำประวัติสัตว์ในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันจะเป็นลักษณะที่เกษตรกรหรือเจ้าหน้าที่กำหนดขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่หรือไม่มีการกำหนดในบางพื้นที่ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมาก ในภาพรวมของการจัดระบบป้องกันการเกิดโรคระบาดของประเทศ หรือระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อหาสาเหตุใด ๆ ที่เกิดเนื่องจากสัตว์ไม่ว่าจะเป็นด้านโรคระบาด ด้านสารตกค้างหรือด้านอื่น ๆ


ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงจัดทำโครงการระบบการทำเครื่องหมายและขึ้นทะเบียนสัตว์แห่งชาติขึ้นเป็นระบบเดียวกันของประเทศ โดยมีเป้าหมายที่เริ่มดำเนินการ คือ โค กระบือ แพะ แกะ ซึ่งดำเนินการ 3 ขั้นตอน คือ การติดเบอร์หูสัตว์ โดยมีหมายเลข 13 หลัก ซึ่งเป็นหมายเลขที่กรมปศุสัตว์กำหนดเท่านั้น ทำบัตรประจำตัวสัตว์ ระบุประวัติด้านต่าง ๆ และนำข้อมูลในบัตรประจำตัวสัตว์ไปบันทึกเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ในระบบฐานข้อมูลประวัติสัตว์

โดยทั้ง 3 ขั้นตอน กรมปศุสัตว์จะเร่งรัดฝึกอบรมให้เกษตรกรสามารถปฏิบัติได้เองในที่สุด โดยเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์จะคอยช่วยเหลือตรวจสอบให้ข้อมูลประวัติสัตว์เป็นความจริงตลอดเวลา ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินงานเป็น 5 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2550 จังหวัดในภาคใต้ภาคตะวันออก ระยะที่ 2 ปี 2551 โคนมทั่วประเทศและสัตว์ในโครงการต่าง ๆ ของ ส่วนราชการ ระยะที่ 3 ปี 2552 จังหวัดชายแดนทุกจังหวัดและจังหวัดในภาคกลาง ระยะที่ 4 ปี 2553 จังหวัดในภาคเหนือ และ ระยะที่ 5 ปี 2554 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินงานในภาคใต้และภาคตะวันออก ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเกษตรกรเจ้าของสัตว์ เกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับโค กระบือ แพะ แกะ สามารถศึกษาข้อมูลของระบบ การทำเครื่องหมาย และขึ้นทะเบียนสัตว์แห่งชาติได้ที่ www.dld.go.th/dcontrol หรือติดต่อขอรับบริการที่สำนักงานปศุสัตว์-อำเภอท้องที่ที่เลี้ยงสัตว์นั้น.

ที่มา เดลินิวส์ วันที่ 7 สิงหาคม 2550 เวลา 00:00 น

date