สาเหตุและอาการของโรคบรูเซลโลซิสในฟาร์มแพะ-แกะ

เชื้อแบคทีเรียก่อโรค คือ Brucella melitensis สัตว์ได้รับเชื้อ โรคจากสารคัดหลั่ง รกและน้ำเชื้อ โดยเชื้อเข้าทางปาก จมูกหรือตา ทางผิวหนังฉีกขาดหรือการผสมพันธุ์ เชื้อจะอยู่ใน กระแสเลือดในระยะ 10-20 วัน หลังจากได้รับเชื้อและอาจจะอยู่นาน 30-45 วัน สัตว์จะมีการ ตอบสนองทางซีรัมวิทยา โดยจะตรวจพบแอนติบอดีในซีรัมในระยะ 2-4 สัปดาห์และค่อยๆลดลงในบางครั้ง อาจจะไม่พบแอนติบอดี ในสัตว์ที่ตั้งท้องหรือพบแอนติบอดีในตัวสัตว์ไปจนถึงระยะแท้งลูก หรือคลอดลูก สัตว์อาจมีการแท้งลูกหรือไม่แท้งลูกก็ได้ขึ้นกับปริมาณ เชื้อที่มีอยู่ในร่างกาย สัตว์ที่อยู่ในระยะหยุดให้นมจะพบการตอบสนอง ในระดับที่ต่ำหรืออาจจะไม่พบการตอบสนองทางซีรัมวิทยา ปรากฎการณ์ เช่นนี้จะเป็นจุดอันตรายต่อการควบคุมและป้องกันโรค เพราะสัตว์เหล่านี้จะเป็นตัวอมโรคและแพร่โรค ซึ่งในระยะต่อมา จึงจะตรวจพบแอนติบอดีต่อโรค แพะ-แกะที่ติดโรคพบประมาณ 60-84% แท้งลูกเฉพาะการตั้งท้องแรกเท่านั้นแต่สามารถจะปล่อยเชื้อ ออกมาพร้อมกับ สารคัดหลั่ง รกในระยะคลอดลูกได้ในแพะที่เป็นโรคบรูเซลโลซิสมีโอกาสเกิดจากเชื้อ B. abortus ได้ถ้าเลี้ยงแพะร่วมกับโคที่เป็นโรคนี้ แต่โอกาสค่อนข้างน้อย และมักไม่แสดงอาการ

การป้องกันโรคบรูเซลโลซิสในฟาร์มแพะ-แกะ

1. ไม่นำแพะที่เป็นโรคบรูเซลโลซิสหรือแพะที่มาจากฝูงที่เป็น โรคหรือมาจากฝูงที่ไม่เคยทดสอบโรคเข้ามาเลี้ยงในฟาร์ม
2. ทดสอบโรคบรูเซลโลซิสประจำปีอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง
3. กรณีที่พบสัตว์แท้งลูกให้เก็บลูกสัตว์ที่แท้ง รกส่งตรวจเพื่อหา สาเหตุของโรค
4. ปรับปรุงระบบสุขาภิบาลให้เหมาะสมในการป้องกันโรค
5. ใส่ถุงมือป้องกันการติดเชื้อโรคกรณีที่ต้องสัมผัสกับรก น้ำคร่ำหรือสิ่งคัดหลั่งจากระบบสืบพันธุ์
6. ไม่มีการใช้วัคซีนโรคบรูเซลโลซิสในแพะ แกะ

การควบคุมโรคในฟาร์มแพะ-แกะที่ติดโรคบรูเซลโลซิส

1. ไม่ควรเคลื่อนย้ายแพะ แกะ เข้า-ออกฟาร์มจนกว่าจะมั่นใจว่า ไม่มีแพะที่เป็นโรคอยู่ในฝูง
2. กำจัดแพะที่เป็นโรค
- กรณีเปอร์เซ็นต์การเป็นโรคในฝูงต่ำ ให้กำจัดตัวที่เป็นโรค ออกจากฝูงและตัวที่เหลือภายในฟาร์มให้ทดสอบโรคทุก 1-2 เดือน ติดต่อกันเพื่อกำจัดแพะที่ให้ผลบวกทางซีรัมวิทยาออกไปจากฝูงจน กระทั่งไม่พบสัตว์ที่ให้ผลบวกทางซีรัมวิทยาต่อโรคบรูเซลโลซิสในฝูง ติดต่อกัน 3 ครั้ง
- กรณีเปอร์เซ็นต์การเป็นโรคให้ผลบวกทางซีรั่มวิทยาที่มี เปอร์เซ็นต์สูงให้กำจัดแพะทั้งฝูง
3. ทำลายเชื้อโรคในคอกแพะภายหลังกำจัดแพะที่เป็นโรค ออกจากฝูง
4. ทำลายรก น้ำคร่ำที่ถูกขับออกมาในขณะที่แพะคลอด หรือ แท้ง โดยการฝังทันทีที่เห็นและทำลายเชื้อโรค
5. ไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นๆ โดยเฉพาะเด็กเข้าในคอกแพะที่เป็นโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่สัตว์แท้งลูก
6. เกษตรกรผู้ที่สัมผัสกับสัตว์ที่เป็นโรค หรือสงสัยให้รีบปรึกษา แพทย์และแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อทดสอบโรคในฟาร์ม

การวินิจฉัยและชันสูตรโรคในแพะ-แกะ

1. การตรวจทางซีรัมวิทยา
- การคัดกรองโรคใช้วิธี Rose bengal test (RBT) มีวิธีการ แตกต่างจากการตรวจในโคเพื่อเพิ่มความไวในการทดสอบโรค ใช้แอนติเจน Rose Bengal ของสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ (ส.ท.ช.) กรมปศุสัตว์ ที่ผลิตจาก B. abortus ชนิดเดียวกับที่ใช้ในโค กระบือ สุกร ตามที่ OIE ให้คำแนะนำ เนื่องจากมีคุณสมบัติของแอนติเจนร่วมกัน ใช้หลักเกณฑ์การทดสอบในโค ซึ่งถ้าหากจะเพิ่มความไวของการทดสอบโรคจะมีการเปลี่ยนแปลงปริมาตรของซีรั่มที่ใช้ทดสอบโรคจากเดิม 25-30 ไมโครลิตร เป็น 75 ไมโครลิตร และใช้แอนติเจน 25 ไมโครลิตร คนให้ผสมกันดี อ่านผลที่ 4 นาที
- การตรวจยืนยันใช้วิธี Complement fixation test (CFT) ร่วมกับ indirect ELISA (iELISA)

2. การเพาะแยกเชื้อและการตรวจทางชีวโมเลกุล

ขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการเก็บตัวอย่างและการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โปรดสอบถาม สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ เกษตรกลาง จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทรศัพท์ 0-2579-8908-14 ต่อ 232, 234, 235 (อัตโนมัติ) กลุ่มอิมมูนและซีรัมวิทยา

ที่มา
สัตวแพทย์หญิงมนยา เอกทัตร์
หัวหน้ากลุ่มอิมมูนและซีรัมวิทยา
สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ




date วันพฤหัสบดี, กันยายน ๐๖, ๒๕๕๐

0 ความคิดเห็น to “คุณรู้เรื่องโรคบรูเซลโลซิสหรือยัง”