ในช่วงหน้าฝนที่ฝนตกไม่ยอมหุยดและฝนชุกๆอย่างนี้ ผมมักได้รับคำถามเสมอๆว่า ทำไมแพะถึงตาย ส่วนมากหลังจากการสอบถามโทรศัพท์ มีหลากหลายอาการ และทำการรักษาไม่รอด คำถามนี้มันก็ตอบยากนะครับ เพราะมันเป็นกลุ่มอาการ เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่พอสรุปคร่าวๆได้ 3 สาเหตุที่ทำไห้แพะตาย
1.ปรสิต หรือ พยาธินั่นเอง เจ้าตัวปัญหาที่พบประจำในพื้นที่บ้านเรา ตามสภาพภูมิอากาศ อาการหลักๆ ที่แพะสุดที่รักท่าน น่าจะเป็นพยาธิ คือ ตาซีด ขนหยาบ ไม่ค่อยมีแรง
พยาธิถือได้ว่าเป็นโรคประจำตัวของแพะในหน้าฝนเลยก็ว่าได้ ยิ่งร้อนสลับฝนด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่ แต่เรามีข้อแก้ไขนะครับ นั่นคือ การเลี้ยงปล่อยแปลงหญ้าแบบหมุนเวียน
ทำไมต้องสลับเปลี่ยนแปลงหญ้า ก็เพราะว่า พยาธิมันไม่มีขาครับ เดินไปไม่ได้ มันต้องอาศัยตัวแพะในการแพร่กระจายโรค เพราะฉนั้น แปลงหญ้าใหม่พลพรรคพยาธิมันก็ไปไม่ได้ มันอยู่แปลงไหนแปลงนั้น เมื่อไม่มีแพะให้มันสิงสถิตย์ มันก็ตายจากไป
แต่ช้าก่อน พยาธิพวกนี้มันอยู่ในขี้แพะ ตรงไหนมีการเล็มกินกับพื้นมากๆ ก็ติดง่ายมาก แต่ท่านใดปล่อยแปลงที่มีไม้พุ่มมากๆ ก็โอกาสเป็นพยาธิน้อยลง แนะนำให้ท่านมีแปลงหญ้า ซักประมาณ 3แปลงเป็นอย่างน้อย เลี้ยงหมุนเวียนคราวละ 21วัน ทำไมต้อง 21 วัน เนื่องจากวงจรชีวิตพยาธิส่วนใหญ่ มันจะโตเต็มวัยในช่วง 21 วัน
ท่านที่ผสมอาหารเอง ก็แนะนำให้ผสมอาหารจำพวกพืชน้ำมันมากขึ้น เช่น กากปาล์ม กากเมล็ดนุ่น เพื่อให้มันเคลือบลำไส้ กันพยาธิเกาะผนังลำไส้ ยาที่ให้ก็น่าจะเป็น ไอเวอร์เมคติน ฉีด กับกรอกอัลเบนดาโซล ไม่แนะนำให้ทำการถ่ายพยาธิแบบเป็นตารางเช่นเดือนละครั้ง
ถ้าจะให้ดีการถ่ายพยาธิควรทำเมื่อมีปริมาณมาก เช่นเข้าหน้าฝน หรืออาจจะส่งขี้ไปตรวจก็ได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการดื้อยา (หรือว่าบ้านเราดื้อหมดแล้ว?) หรือเมื่อฝนตกหนัก เก็บขี้ไปตรวจ บอกแลบด้วยว่าให้ตรวจปริมาณไข่พยาธิด้วย จากนั้นก็ทำการถ่ายพยาธิอาทิตย์ละครั้ง 3ครั้งติดต่อกัน เมื่อครบ 3ครั้งแล้วก็เก็บขี้ไปตรวจแบบเดิม แล้วท่านจะพบว่ายาที่ท่านให้ไปพยาธิมันดื้อหรือเปล่า โดยดูจากปริมาณไข่ที่ลดลง
2.โรคที่เป็นกันมากแต่ไม่ค่อยมีใครคาดคิด มุ่งแต่พยาธิอย่างเดียว บิดครับบิด หรือคอคซิเดียที่เคยกล่าวไปแล้วนั่นเอง ข้อควรจำคือมักเป็นใน แพะที่อายุต่ำกว่า 10เดือน อาการเด่นๆคือ แพะแกร็นไม่ค่อยโต ท้องกาง ขนหยาบ ทั้งนี้เชื้อพวกนี้มันมีสาเหตุเนื่องจากการที่คอกขาดสุขลักษณะที่ดี พูดง่ายๆก็คือ สกปรกครับสกปรก
โรคนี้ติดต่อง่าย รักษายาก แต่ป้องกันง่าย(เอ๊ะยังไง?) การป้องกันคือยกพื้นสูงตามแบบฉบับที่แนะนำทั่วไป แต่มีข้อเพิ่มเติมคือพยายามให้มีแอ่งมุมซอกหลืบมากนัก และให้มีคอกระบายน้ำที่ดีแห้งง่าย สาเหตุเพราะเชื้อพวกนี้มันไปกับน้ำครับ น้ำไปถึงไหน เชื้อไปถึงนั่นครับ รางน้ำให้ล้างทุกวัน และพยายามอย่าให้แพะขี้ลงน้ำได้ครับ หรือไม่ก็ผสมยากันบิดลงไปในน้ำกิน(แต่ยาแพงบรรลัยเลย)
3.โรคขาดแร่ธาตุ หน้าฝนนี้แร่ธาตุบางอย่างถูกชะไป หรือบางพื้นที่อาจจะขาดแร่ธาตุหรือมีปริมาณน้อย แต่ที่ฟังๆมาก็มักจะพบว่าขาด ซีลีเนียม แก้ไขโดยการฉีดและเพิ่มอาหารคุรภาพดี เช่นแพงโกล่า อัลฟาฟา ก็คงพอช่วยได้บ้าง
พวกนี้รายละเอียดมันค่อนข้างเยอะ บางท่านอาจจะมีข้อมูลดีๆช่วยกันบอกด้วยครับ เพื่อพัฒนาวงการแพะของเรา
วันอาทิตย์, กันยายน ๒๓, ๒๕๕๐