โรคบิด
โรคบิดในแพะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียบ่อยๆในแพะบางครั้งเป็นสาเหตให้แพะตายได้พบมากในลูกแพะ และแพะเต็มวัยที่มีอาการเครียด การมีการจัดการฟาร์มที่ดีจะช่วยป้องกันและลดปัญหาเหล่านี้ได้

สาเหตุการเกิดโรค
โรคบิด เป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัวในกลุ่ม Cocidia ที่พบมากในแพะจะเป็นพวก Eimeria จะเข้าไปฝังตัวในเซลล์เยื่อบุลำไส้ และจะทำลายทำให้เยื่อบุลำไส้หลุดลอกเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย เชื้อโปรโตซัวกลุ่มนี้จะมีความจำเพาะเจาะจงกับชนิดสัตว์นั้นๆ แต่บางครั้งมีการพบการติดต่อข้ามกันระหว่างแพะกับแกะ

อาการที่แสดงออกเมื่อมีการติดเชื้อ
เมื่อเชื้อบิดเข้าไปในเซลล์เยื่อบุลำไส้แล้วจะทำลายเซลล์เป็นสาเหตุให้มีเลือดออกและมีสูญเสียน้ำ การดูดซึมอาหารไม่ดี อาการเริ่มต้นจะทำให้แพะมีอาการท้องเสียเป็นน้ำ ในรายที่เป็นรุนแรงจะมีมูกเลือดปนและมีกลิ่นคาว บางรายที่เป็นรุนแรงมากๆอาจจะตายทันที่โดยไม่แสดงอาการท้องเสีย ภายใน 24 ชม. แพะที่มีอาการแบบเริ้อรังจะมีขนที่หยาบหลุดง่าย เวลาลูบตัวแพะจะมีขนร่วงค่อนข้างมาก น้ำหนักตัวลด น้ำนมลดเนื่องจากเยื่อบุลำไส้ถูกทำลายดูดซึมอาหารได้น้อย

ปัจจัยโน้มนำที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ
ลูกแพะ และแพะที่ยังไม่เคยเป็นโรคนี้ จะมีความไวต่อเชื้อมาก โดยมากแล้วจะเป็นในช่วงที่มีความเครียด เช่น ช่วงหย่านม แพะโตเต็มวัยแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ แต่เมื่อใดก็ตามเมื่อมีความเครียดเกิดขึ้นจะทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด เช่น สภาพภูมิอากาศ อาหารและการจัดการ โรงเรือนที่แคบปริมาณแพะที่หนาแน่น การจับบังคับและการไล่ต้อนฝูงแพะ ปัจจัยที่ทำให้จำนวนเชื้อในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ฝูงแพะขนาดใหญ่ในพื้นที่ชื้นแฉะ อาหารสัตว์ที่มีการปนเปื้อนอุจจาระ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ทำให้แพะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมากขึ้น

การแพร่กระจายของเชื้อ
เมื่อแพะได้รับเชื้อบิด(oocyst)โดยการกินเข้าไป เชื้อจะเข้าเกาะกับผนังลำไส้และฝังตัวเข้าไป จากนั้นจะเริ่มเพิ่มปริมาณเชื้อในผนังลำไส้ จนเซลล์เยื่อบุลำไส้แตก แล้วก็จะกระจายไปยังเซลล์ข้างเคียง กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมีการหลุดเข้ามาในสิ่งแวดล้อมโดยผ่านมากับอุจจาระ ซึ่งเชื้อจะเปลี่ยนแปลงเป็น oocyst จะมีความคงทนต่อสภาวะแวดล้อมที่ร้อนชื้นโดยเฉพาะหน้าฝนในบ้านเรา ลูกแพะที่เริ่มกินหญ้า และลูกแพะเกิดใหม่จะพบว่ามี ปริมาณ oocyst ค่อนข้างมาก เนื่องจากในหญ้าและเต้านมของแม่แพะจะมีเชื้อติดอยู่ค่อนข้างมากทำให้มีการแพร่กระจายเชื้อมาก เชื้อจะค่อนข้างทนต่อสภาพแวดล้อมและยาฆ่าเชื้อ แต่จะไม่ค่อยทนต่ออุณหภูมิที่สูง และแสงแดด แพะที่ไม่ได้รับเชื้อเพิ่มจากสิ่งแวดล้อมจะสามารถทนต่อโรคได้สามารถหายเองได้ ความรุนแรงของการเกิดอาการท้องเสียขึ้นกับปริมาณเชื้อที่ได้รับเข้าไป
.
การควบคุมโรค
การควบคุมปริมาณเชื้อในสภาพแวดล้อม เป็นหัวใจหลักในการควบคุมและป้องกันโรคนี้ อันดับรองลงมาคือการจัดการความเครียดของแพะให้เกิดน้อยที่สุด อันดับสุดท้ายที่ควรคำนึงถึงคือการใช้ยาควบคุมในฟาร์มที่มีการระบาดค่อนข้างรุนแรง

การควบคุมปริมาณเชื้อ
•ลดการปนเปื้อนของอุจจาระ แพะในอาหาร และน้ำ จัดแบ่งอาหารแพะเป็นชุดๆไม่ควรนำอาหารเหลือไปให้แพะชุดอื่นกิน
•รางน้ำและอาหารพยายามให้เป็นแบบที่แพะเดินย่ำไม่ได้หรืออุจจาระลงไปได้
•น้ำกินในคอกแพะ ไม่ควรให้จนล้น
•หน้าฝนไม่ควรปล่อยแพะลงในแปลงหญ้าเป็นฝูงขนาดใหญ่

การลดความเครียด
•คอกแพะควรมีความโล่งระบายอากาศได้ดี ระบายน้ำได้ดี

•หลีกเลี่ยงการเลี้ยงแพะปนกันระหว่างแพะเต็มวัยกับลูกแพะ
•ควบคุมสุขภาพแพะ โดยการให้อาหารคุณภาพดี และมีการถ่ายพยาธิสม่ำเสมอ
•หน้าฝนหลีกเลี่ยงการปล่อยแพะลงแปลงหญ้าเป็นระยะเวลานานๆ
•ลดการเลี้ยงแพะที่หนาแน่น คอกแพะเหมาะสมกับปริมาณแพะ


date วันพฤหัสบดี, กันยายน ๐๖, ๒๕๕๐

0 ความคิดเห็น to “บิด โรคท้องเสียที่มากับหน้าฝน”